Affiliate คือ การทำการตลาดออนไลน์รูปแบบหนึ่งโดยอาศัยการ “บอกต่อ” เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งตอนนี้ Affiliate Marketing กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย เนื่องจากผู้ซื้อมักมีความเชื่อใจที่จะเลือกซื้อตามคนที่ตนชื่นชอบ เช่น Influencer หรือ KOLs มากกว่าคำโฆษณาจากผู้ขาย เนื่องจากรู้สึกว่าคำบอกเล่าของคนที่ตัวเองติดตามมีความจริงใจมากกว่าคำโฆษณา ในฝั่งของผู้ขายเองการทำการตลาดรูปแบบ Affiliate ก็ใช้งบประมาณที่น้อยกว่าและมีผลลัพธ์ที่ดีกว่าการทำโฆษณาในรูปแบบเดิม ๆ หลายเท่าตัวเช่นกัน
บทความนี้ The Wisdom Academy จึงอยากมาแนะนำเจ้าของธุรกิจให้ได้รู้จักกับ 5 เทคนิคเพิ่มยอดขายบนออนไลน์ด้วย Affiliate Marketing ที่ทำตามได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีเทคนิคไหนบ้างมาดูกัน!
เลือกอ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
รู้จักกลุ่มเป้าหมาย
จุดมุ่งหมายหลักของการขายสินค้าก็คือ “ลูกค้า” ดังนั้นแล้ว เราควรทำความรู้จักกับกลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจให้ดีและละเอียดมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น เพศ, อายุ, ไลฟ์สไตล์, ความชอบ, พฤติกรรมการซื้อ และอื่น ๆ
โดยรวมแล้วเรียกการศึกษากลุ่มเป้าหมายว่าการทำ Customer Persona คืออะไร? โดยมีวิธีการหากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ ดังนี้
วิธีการหากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ
การหากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ หมายถึง การกำหนดกลุ่มลูกค้าที่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าหรือบริการ โดยมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการ ความสนใจ และพฤติกรรมของลูกค้า
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจกลุ่มเป้าหมายได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยสามารถทำได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
(1) กำหนดวัตถุประสงค์ของธุรกิจ
ขั้นตอนแรกคือการต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า ธุรกิจของเราต้องการอะไรจากกลุ่มเป้าหมาย เช่น ต้องการขายสินค้า, ต้องการเพิ่มการรับรู้แบรนด์ หรือต้องการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดกลยุทธ์การตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเลือกช่องทางการตลาดที่เหมาะสม การสร้างเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงต่อความต้องการมากขึ้น
ตัวอย่าง
สมมติว่าเรามีธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่นแล้วต้องการหากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่น ขั้นตอนแรก คือ ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของธุรกิจให้ได้ก่อน
- เป้าหมายทางการตลาด: เพิ่มยอดขายเสื้อผ้าแฟชั่น 10% ภายในปีหน้า
- งบประมาณการตลาด: 1 ล้านบาท
จากวัตถุประสงค์เหล่านี้ เราสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ดังนี้
- กลุ่มเป้าหมาย: คนรุ่นใหม่ อายุ 18-35 ปี อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ
- เหตุผล: กลุ่มคนรุ่นใหม่มีกำลังซื้อสูง และนิยมแต่งตัวตามแฟชั่น
(2) วิเคราะห์สินค้าหรือบริการ
เราต้องเข้าใจสินค้าหรือบริการเป็นอย่างดี เพื่อที่จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม เช่น สินค้าของเราเหมาะกับเพศไหน อายุเท่าไหร่ อาศัยอยู่ในภูมิภาคไหน มีความสนใจอะไรบ้าง เป็นต้น
(3) ศึกษาข้อมูลของคู่แข่ง
การศึกษาข้อมูลของคู่แข่งจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจภาพรวม รู้จุดอ่อนจุดแข็งในแต่ละมิติของธุรกิจที่เรากำลังทำและมองเห็นโอกาสต่าง ๆ ได้รอบด้านมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาและงบประมาณสำหรับการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองทั้งหมด ดังคำกล่าวที่ว่า “คนฉลาดจะเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น” ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้โดยตรงกับการทำธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจร้านอาหารอาจสังเกตว่าคู่แข่งมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่กว้างเกินไป โดยมุ่งเน้นที่จะขายอาหารให้กับ “ทุกคน” ทั้งที่กลุ่มเป้าหมายจริงควรเจาะจงลงไปมากกว่านั้น อย่าลูกค้าที่ต้องการรับประทานอาหารกลางวันราคาประหยัด ก็จะช่วยให้สามารถใช้กลยุทธ์ทางการตลาด การปรับปรุงสินค้าและการบริการได้ดีมากขึ้นตามไปด้วย
(4) รวบรวมข้อมูล
เมื่อเรากำหนดวัตถุประสงค์ วิเคราะห์สินค้าหรือบริการ และศึกษาข้อมูลของคู่แข่งแล้ว จากนั้นก็สามารถเริ่มรวบรวมข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น ข้อมูลประชากร ความสนใจ พฤติกรรมการใช้จ่าย เป็นต้น
วิธีรวบรวมข้อมูล
- ข้อมูลภายใน เช่น ข้อมูลลูกค้าของเราจากฐานข้อมูล ข้อมูลการขาย ข้อมูลการสำรวจความพึงพอใจ เป็นต้น
- ข้อมูลภายนอก เช่น ข้อมูลประชากรศาสตร์จากหน่วยงานภาครัฐ ข้อมูลความสนใจจากโซเชียลมีเดีย ข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เป็นต้น
(5) วิิเคราะห์ข้อมูล
เมื่อรวบรวมข้อมูลแล้ว เราก็ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น เพื่อหากลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับวัตถุประสงค์ให้มากที่สุดเช่น การหาค่าเฉลี่ย, การหาส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน, การจำแนกกลุ่มเป้าหมายตามความสนใจหรือพฤติกรรมการใช้จ่าย เป็นต้น
เมื่อรู้แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจเป็นใคร มี Customer Persona อย่างไรบ้าง ก็จะช่วยทำให้เรารู้ด้วยว่าควรเลือก Influencer และ KOLs อย่างไรถึงจะสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น
ตัวอย่างเช่น เมื่อรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจเป็น “หญิง อายุ 19-24 ปี ที่รักการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” การเลือก Influencer มาช่วยทำ Affiliate Marketing อาจจะเป็นคนที่กลุ่มเป้าหมายมักติดตาม เช่น เบเบ้ ไอดอลด้านการออกกำลังกายของผู้หญิงยุคใหม่ เป็นต้น
เลือกคนที่ลูกค้าชื่นชอบและไว้ใจ
จากการศึกษากลุ่มเป้าหมาย เราจะรู้แล้วว่าชื่นชอบหรือติดตามใครบ้าง จากนั้นแนะนำให้เลือกตัวแทนที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น Influencer หรือ KOLs ที่มีไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมายเพราะเมื่อ Influencer เหล่านั้นทำการรีวิวสินค้าจะทำให้ดูเหมือนเป็นลูกค้าของเราอีกหนึ่งคนนั่นเอง นอกจากนั้นแล้วการเลือก Influencer หรือ KOLs ให้ตอบโจทย์การทำการตลาดแบบ Affiliate Marketing ยังมีข้อควรพิจารณา ดังนี้
- ผู้ติดตามจำนวนมาก: การที่อินฟลูเอนเซอร์มีฐานผู้ติดตามมากก็ยิ่งช่วยเสริมความเป็นไปได้ที่แบรนด์จะเป็นที่รู้จักในวงกว้างและมียอดขายที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
- สร้าง Content อย่างมืออาชีพ: การทำงานกับอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็น Content Creator มืออาชีพก็ยิ่งช่วยให้การทำงานราบรื่นมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถคาดหวังได้ว่าจะได้ Content ที่มีความแปลกใหม่ น่าสนใจ และตรงกับความต้องการของเราได้มากเท่านั้น โดยเฉพาะอาจจะสามารถสร้างไวรัลให้กับแบรนด์เราได้อีกด้วย
- มีภาพลักษณ์ที่เหมาะสม: การเลือกตัวแทน Affiliate ที่จะต้องทำหน้าที่ในการแนะนำ รีวิว หรือป้ายยาสินค้าของแบรนด์ แนะนำว่าควรเลือกคนที่มีภาพลักษณ์เหมาะสม ไม่มีประเด็นเสียหายต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดีตามไปด้วย
- ความรับผิดชอบสูง: การทำ Affiliate Marketing ให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยการทำงานของทั้งฝั่งเจ้าของธุรกิจและตัวแทน หากเลือกตัวแทนที่ไม่มีความรับผิดชอบ เช่น รับสินค้าตัวอย่างไปแล้วแต่ไม่ทำการโพสต์รีวิวสินค้าให้ แบบนี้ถ้าสินค้าเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงก็อาจสร้างความเสียหายได้ ดังนั้นแล้วควรเช็คประวัติการรับงานรีวิวหรืองานแนะนำสินค้าของคนที่กำลังจะมาเป็นตัวแทน Affiliate อย่างรอบคอบเสมอ
สนับสนุนการทำ Value Content
Value Content หมายถึง คอนเทนต์ที่มีคุณค่าและประโยชน์ในการแก้ปัญหาให้กับคนจำนวนมากได้อย่างแท้จริง โดยคอนเทนต์ประเภทนี้จะทำให้คนดูรู้สึกว่าได้รับความช่วยเหลือและอยากจะตอบแทนกลับตามหลัก Give and Take ซึ่งนั่นหมายความว่าเขาจะเริ่มรู้สึกอยากซื้อสินค้าที่ตัวแทนของเราได้แนะนำไว้ในคอนเทนต์ต่าง ๆ นั่นเอง
ในฐานะเจ้าของธุรกิจ สามารถให้การสนับสนุนให้ตัวแทน Affiliate สร้างสรรค์ Value Content ได้ด้วยเทคนิคต่าง ๆ ดังนี้
- บรีฟข้อมูลให้ชัดเจน: การอธิบายอย่างชัดเจนว่าอยากได้คอนเทนต์แบบไหน มีรายละเอียดต่าง ๆ อย่างไร จะช่วยให้ตัวแทน Affiliate สามารถเห็นภาพการทำงานได้ชัดเจนขึ้นและช่วยให้คอนเทนต์ออกมามีคุณภาพภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้อีกด้วย
- แสดงตัวอย่างงานเสมอ: เราสามารถให้ตัวอย่าง Value Content เพื่อให้ตัวแทน Affiliate ได้เห็นไอเดียในการสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งวิธีนี้ยังช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้อย่างดีจนน่าเหลือเชื่อ
- สร้าง Community ตัวแทน: การสร้างชุมชนออนไลน์หรือแพลตฟอร์มที่มีไว้ให้ตัวแทน Affiliate เช่น Facebook Group, Line Open chat รวมถึงการจัดประชุมตัวแทนเป็นรายเดือน
สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ตัวแทนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้สามารถพัฒนาทักษะความรู้ในการโปรโมตสินค้าหรือบริการของแบรนด์ได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ให้คำปรึกษาและคำแนะนำ: เราสามารถให้คำปรึกษาและคำแนะนำเพิ่มเติมในกรณีที่ตัวแทน Affiliate หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้
ตรงนี้นอกจากจะช่วยให้การทำงานของตัวแทน Affiliate ราบรื่นมากขึ้นยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจและตัวแทน Affiliate อีกด้วย
- ส่งเสริมการทำ SEO: SEO (Search Engine Optimization) เป็นการปรับแต่งคีย์เวิร์ดบนหน้าเพจต่าง ๆ ให้ตรงตามนโยบาย E-E-A-T และ YMYL ซึ่งทำให้คอนเทนต์นั้น ๆ ขึ้นหน้าแรกของ Google ได้สำเร็จ และเมื่อเป็นอย่างนั้นโอกาสที่สินค้าจะเป็นที่รู้จักและมียอดขายจำนวนมากก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ให้ค่าคอมมิชชันที่ดึงดูดใจ
การกำหนดอัตราค่าคอมมิชชันที่เหมาะสมและน่าดึงดูดใจสำหรับตัวแทน Affiliate จะช่วยให้ตัวแทนมีแรงจูงใจในการโปรโมตสินค้าหรือบริการมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้ควรทำอย่างระมัดระวังเพราะการกำหนดค่าคอมมิชชันที่สูงแต่ไม่ได้คัดสรรตัวแทนให้ดีตามขั้นตอนอื่น ๆ ที่ได้แนะนำไปแล้ว อาจทำให้ตัวแทนที่ร่วมงานไม่ได้มีเป้าหมายการทำงานที่สอดคล้องกับธุรกิจของเราเป็นจำนวนมากได้ ดังนั้นควรมีการคัดเลือกตัวแทนให้ดีและให้ค่าคอมมิชชันที่เหมาะสมเป็นการตอบแทน
สร้างระบบติดตามและวิเคราะห์ผลลัพธ์
การสร้างระบบติดตาม Affiliate Link จะทำให้สามารถประเมินได้อย่างแม่นยำมากขึ้นว่าลิงก์นั้น ๆ ถูกคลิกไปแล้วทั้งหมดกี่ครั้ง เกิดการซื้อขายทั้งหมดกี่ครั้งจากการคลิก รวมไปถึงอัตราการซื้อสินค้าจากตัวแทนแต่ละคนเป็นจำนวนเท่าไร เมื่อมีการติดตามผลลัพธ์อย่างใกล้ชิดก็จะทำให้เราสามารถประเมินได้ว่าแผนการจัดการการขายด้วย Affiliate Marketing ของเราได้ผลมากน้อยแค่ไหน หากไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีก็จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงแนวทางได้ทันนั่นเอง
สรุป
- การตลาดแบบ Affiliate คือ การทำการตลาดรูปแบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยผลสำรวจพบว่า “การบอกต่อ คือ การตลาดที่ง่ายแต่ทรงพลังอย่างมาก”
- ในยุคนี้ที่ Gen Y และ Gen Z กำลังเป็นกำลังซื้อสำคัญในตลาด ซึ่งมีความเชื่อใจในคำโฆษณาน้อยลงเรื่อย ๆ ตรงกันข้าม กลับเชื่อคำแนะนำของบุคคลที่ชอบอย่าง Influencer หรือ KOLs มากกว่า ด้วยความรู้สึกว่าการแนะนำนั้นน่าจะตรงกับความเป็นจริงที่สุด
- วิธีเพิ่มยอดขายด้วยการทำ Affiliate คือ การให้ความสำคัญกับตัวแทนให้มากที่สุด ตั้งแต่การคัดเลือกเข้ามาเป็นตัวแทน ไปถึงคุณภาพของคอนเทนต์ที่จะต้องพูดถึงสินค้าและบริการด้วย
ที่มา: