เช็คลิสต์! ขั้นตอนการจดทะเบียนการค้าต้องทำอะไรบ้าง (ฉบับจับมือทำ)

การจดทะเบียนการค้า หรือ การจดทะเบียนพาณิชย์ คือ หลักฐานสำคัญทางการค้า ที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า และสร้างความมั่นใจได้ว่าร้านค้านั้นมีตัวตนและมีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง ทำให้ลูกค้าสามารถรับ-คืน-เปลี่ยนสินค้าได้ หรือหากสินค้าชำรุดหรือใช้งานไม่ได้ภายในระยะเวลารับประกัน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้กิจการบางประเภทต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ ทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลแตกต่างกันไปตามข้อบังคับ เช่น บุคคลธรรมดาที่ประกอบกิจการค้าขายทั่วไป พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่สำหรับนิติบุคคล หากได้ระบุการค้าขายไว้ในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลก็ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์แต่อย่างใด

ใครบ้างที่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนการค้า?

กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้แบ่งผู้ที่มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์ไว้ 5 ประเภท ดังนี้

  1. บุคคลธรรมดาคนเดียว (กิจการเจ้าของคนเดียว)
  2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
  3. กฎหมายต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย
  4. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด
  5. บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด

*ข้อควรรู้ : การจดทะเบียนการค้า ผู้ประกอบการ ต้องขอจดทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิยช์ภายใน 30 วัน นับต้องแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจหรือกิจการ

ธุรกิจใดบ้างที่ไม่ต้องจดทะเบียนการค้า?

ผู้ที่ไม่ต้องจดทะเบียนการค้ามีหลากหลาย แต่ผู้ที่ได้รับการยกเว้นการจดทะเบียนการค้าหลักๆจะมีดังนี้

  1. การค้าเร่ การค้าแผงลอย
  2. พาณิชยกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
  3. พาณิชยกิจของนิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
  4. พาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม
  5. พาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
  6. พาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตาม ปว.141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2515

ธุรกิจค้าขายออนไลน์ต้องจดทะเบียนการค้าหรือไม่?

ร้านค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนการค้าตามกฎหมายกำหนด แบ่งเป็นดังนี้

  • กรณีร้านค้าออนไลน์ที่ไม่สามารถชำระเงินบนแพลตฟอร์ม สามารถจดทะเบียนพาณิชย์แบบธรรมดา และยื่นภาษีตามปกติ
  • กรณีร้านค้าบนเว็บไซต์ที่มีระบบชำระเงินบนแพลตฟอร์ม ต้องยื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์พร้อมขอเครื่องหมาย DBD Registered เพิ่มเติม

ขั้นตอนการจดทะเบียนการค้าทำอย่างไรบ้าง?

ขั้นตอนแรก: เตรียมเอกสารให้พร้อม

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับจดทะเบียนการค้าหรือจดทะเบียนพาณิชย์ มีดังนี้

  1. คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) ดาวน์โหลด คลิก
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 
  3. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
  4. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
  5. สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
  6. หนังสือชี้แจง (สำหรับร้านที่เปิดมานานแล้ว และไม่ได้ยื่นจดทะเบียนการค้านับตั้งแต่ 30 วัน หลังเปิดร้าน)

ขั้นตอนที่ 2: จดทะเบียนการค้าได้ที่สถานที่ต่างๆ

  1. กรณีผู้ประกอบการที่มีธุรกิจ ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ 
  • สำนักงานเขต 50 เขต โดยต้องยื่นจะทะเบียนการค้าในเขตธุรกิจที่เราตั้งอยู่เท่านั้น 
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 
  • สำนักการคลัง 
  • ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
  1. กรณีผู้ประกอบการที่มีธุรกิจตั้งอยู่ต่างจังหวัด
    • สามารถยื่นจดทะเบียนการค้าได้ที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตที่ตั้งตั้งธุรกิจอยู่

ขั้นตอนที่ 3: ชำระเงิน

โดยค่าบริการการจดทะเบียนการค้ามีดังนี้

  1. จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ 50 บาท
  2. จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ครั้งละ 20 บาท
  3. จดทะเบียนยกเลิกประกอบพาณิชยกิจ 20 บาท
  4. ขอให้ออกใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ฉบับละ 30 บาท
  5. ขอให้เจ้าหน้าที่คัดลอกสำเนาและรับรองสำเนาเอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจ (ผู้ประกอบกิจการค้า) ฉบับละ 30 บาท

ข้อบังคับการจดทะเบียนการค้ามีอะไร?

  1. ต้องขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ เริ่มประกอบ เปลี่ยนแปลง หรือ เลิกกิจการ 
  2. ต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์หรือใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย
  3. ต้องจัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจไว้หน้าสำนักงานแห่งใหญ่และสำนักงานสาขาโดย เปิดเผยภายในเวลา 30 วันนับแต่วันที่จดทะเบียนพาณิชย์ ป้ายชื่อให้เขียนเป็นอักษรไทย อ่านง่ายและชัดเจน จะมีอักษร ต่างประเทศในป้ายชื่อด้วยก็ได้ และจะต้องตรงกับชื่อที่จดทะเบียนไว้ หากเป็นสำนักงานสาขาจะต้องมีคำว่า “สาขา” ไว้ด้วย 
  4. ต้องยื่นคำขอใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สูญหาย หรือชำรุด
  5. ต้องไปให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการจดทะเบียนตามคำสั่งของนายทะเบียน
  6. ต้องอำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเข้าทำการตรวจสอบในสำนักงานของผู้ประกอบกิจการ

หากไม่จดทะเบียนการค้าผิดหรือไม่?

หากไม่ทำการจดทะเบียนการค้าตามกฎหมายกำหนด จะมีโทษดังนี้

  1. ประกอบพาณิชยกิจโดยไม่จดทะเบียน แสดงรายการเท็จ ไม่ยอมให้ถ้อยคำ ไม่ยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้า ไปตรวจสอบในสำนักงาน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีไม่จดทะเบียนอันเป็นความผิด ต่อเนื่อง
  2. ปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
  3. ถ้าใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายไม่ยื่นคำร้องขอใบรับแทน หรือไม่แสดงใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ที่สำนักงาน ที่เห็นได้ง่าย ไม่จัดทำป้ายชื่อ มีความผิดปรับไม่เกิน 200 บาท และถ้าเป็นความผิดต่อเนื่อง ปรับอีกวันละไม่เกิน 20 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง 
  4. ผู้ประกอบพาณิชยกิจซึ่งกระทำการฉ้อโกงประชาชน ปนสินค้าโดยเจตนาทุจริต ปลอมสินค้า หรือกระทำการทุจริตอื่นใดอย่างร้ายแรงในการประกอบกิจการจะถูกถอนใบทะเบียนพาณิชย์ เมื่อถูกสั่งถอนใบทะเบียน พาณิชย์แล้วจะประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะสั่งให้รับจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่
  5. ผู้ประกอบพาณิชยกิจที่ถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์แล้ว ยังฝ่าฝืนประกอบพาณิชยกิจต่อไป มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ

ดังนั้น ควรจดทะเบียนการค้า หรือ จดทะเบียนพาณิชย์ให้เรียบร้อย เพราะขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพียงเตรียมเอกสารให้พร้อม และดำเนินการให้ถูกต้องก็สามารถเป็นผู้ประกอบการอย่างถูกกฎหมายและมีความน่าเชื่อถือได้แล้ว และยังไม่ต้องเสี่ยงเสียค่าปรับหรือโดนบทลงโทษตามกฏหมายอีกด้วย

Leave a Comment

Scroll to Top