การจดทะเบียนการค้า หรือ การจดทะเบียนพาณิชย์ คือ หลักฐานสำคัญทางการค้า ที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า และสร้างความมั่นใจได้ว่าร้านค้านั้นมีตัวตนและมีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง ทำให้ลูกค้าสามารถรับ-คืน-เปลี่ยนสินค้าได้ หรือหากสินค้าชำรุดหรือใช้งานไม่ได้ภายในระยะเวลารับประกัน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้กิจการบางประเภทต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ ทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลแตกต่างกันไปตามข้อบังคับ เช่น บุคคลธรรมดาที่ประกอบกิจการค้าขายทั่วไป พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่สำหรับนิติบุคคล หากได้ระบุการค้าขายไว้ในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลก็ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์แต่อย่างใด
เลือกอ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
ใครบ้างที่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนการค้า?
กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้แบ่งผู้ที่มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์ไว้ 5 ประเภท ดังนี้
- บุคคลธรรมดาคนเดียว (กิจการเจ้าของคนเดียว)
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ
- กฎหมายต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด
- บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด
*ข้อควรรู้ : การจดทะเบียนการค้า ผู้ประกอบการ ต้องขอจดทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิยช์ภายใน 30 วัน นับต้องแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจหรือกิจการ
ธุรกิจใดบ้างที่ไม่ต้องจดทะเบียนการค้า?
ผู้ที่ไม่ต้องจดทะเบียนการค้ามีหลากหลาย แต่ผู้ที่ได้รับการยกเว้นการจดทะเบียนการค้าหลักๆจะมีดังนี้
- การค้าเร่ การค้าแผงลอย
- พาณิชยกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
- พาณิชยกิจของนิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
- พาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม
- พาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
- พาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตาม ปว.141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2515
ธุรกิจค้าขายออนไลน์ต้องจดทะเบียนการค้าหรือไม่?
ร้านค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนการค้าตามกฎหมายกำหนด แบ่งเป็นดังนี้
- กรณีร้านค้าออนไลน์ที่ไม่สามารถชำระเงินบนแพลตฟอร์ม สามารถจดทะเบียนพาณิชย์แบบธรรมดา และยื่นภาษีตามปกติ
- กรณีร้านค้าบนเว็บไซต์ที่มีระบบชำระเงินบนแพลตฟอร์ม ต้องยื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์พร้อมขอเครื่องหมาย DBD Registered เพิ่มเติม
ขั้นตอนการจดทะเบียนการค้าทำอย่างไรบ้าง?
ขั้นตอนแรก: เตรียมเอกสารให้พร้อม
เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับจดทะเบียนการค้าหรือจดทะเบียนพาณิชย์ มีดังนี้
- คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) ดาวน์โหลด คลิก
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
- หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
- สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
- หนังสือชี้แจง (สำหรับร้านที่เปิดมานานแล้ว และไม่ได้ยื่นจดทะเบียนการค้านับตั้งแต่ 30 วัน หลังเปิดร้าน)
ขั้นตอนที่ 2: จดทะเบียนการค้าได้ที่สถานที่ต่างๆ
- กรณีผู้ประกอบการที่มีธุรกิจ ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ
- สำนักงานเขต 50 เขต โดยต้องยื่นจะทะเบียนการค้าในเขตธุรกิจที่เราตั้งอยู่เท่านั้น
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- สำนักการคลัง
- ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
- กรณีผู้ประกอบการที่มีธุรกิจตั้งอยู่ต่างจังหวัด
- สามารถยื่นจดทะเบียนการค้าได้ที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตที่ตั้งตั้งธุรกิจอยู่
ขั้นตอนที่ 3: ชำระเงิน
โดยค่าบริการการจดทะเบียนการค้ามีดังนี้
- จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ 50 บาท
- จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ครั้งละ 20 บาท
- จดทะเบียนยกเลิกประกอบพาณิชยกิจ 20 บาท
- ขอให้ออกใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ฉบับละ 30 บาท
- ขอให้เจ้าหน้าที่คัดลอกสำเนาและรับรองสำเนาเอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจ (ผู้ประกอบกิจการค้า) ฉบับละ 30 บาท
ข้อบังคับการจดทะเบียนการค้ามีอะไร?
- ต้องขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ เริ่มประกอบ เปลี่ยนแปลง หรือ เลิกกิจการ
- ต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์หรือใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย
- ต้องจัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจไว้หน้าสำนักงานแห่งใหญ่และสำนักงานสาขาโดย เปิดเผยภายในเวลา 30 วันนับแต่วันที่จดทะเบียนพาณิชย์ ป้ายชื่อให้เขียนเป็นอักษรไทย อ่านง่ายและชัดเจน จะมีอักษร ต่างประเทศในป้ายชื่อด้วยก็ได้ และจะต้องตรงกับชื่อที่จดทะเบียนไว้ หากเป็นสำนักงานสาขาจะต้องมีคำว่า “สาขา” ไว้ด้วย
- ต้องยื่นคำขอใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สูญหาย หรือชำรุด
- ต้องไปให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการจดทะเบียนตามคำสั่งของนายทะเบียน
- ต้องอำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเข้าทำการตรวจสอบในสำนักงานของผู้ประกอบกิจการ
หากไม่จดทะเบียนการค้าผิดหรือไม่?
หากไม่ทำการจดทะเบียนการค้าตามกฎหมายกำหนด จะมีโทษดังนี้
- ประกอบพาณิชยกิจโดยไม่จดทะเบียน แสดงรายการเท็จ ไม่ยอมให้ถ้อยคำ ไม่ยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้า ไปตรวจสอบในสำนักงาน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีไม่จดทะเบียนอันเป็นความผิด ต่อเนื่อง
- ปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
- ถ้าใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายไม่ยื่นคำร้องขอใบรับแทน หรือไม่แสดงใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ที่สำนักงาน ที่เห็นได้ง่าย ไม่จัดทำป้ายชื่อ มีความผิดปรับไม่เกิน 200 บาท และถ้าเป็นความผิดต่อเนื่อง ปรับอีกวันละไม่เกิน 20 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
- ผู้ประกอบพาณิชยกิจซึ่งกระทำการฉ้อโกงประชาชน ปนสินค้าโดยเจตนาทุจริต ปลอมสินค้า หรือกระทำการทุจริตอื่นใดอย่างร้ายแรงในการประกอบกิจการจะถูกถอนใบทะเบียนพาณิชย์ เมื่อถูกสั่งถอนใบทะเบียน พาณิชย์แล้วจะประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะสั่งให้รับจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่
- ผู้ประกอบพาณิชยกิจที่ถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์แล้ว ยังฝ่าฝืนประกอบพาณิชยกิจต่อไป มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ
ดังนั้น ควรจดทะเบียนการค้า หรือ จดทะเบียนพาณิชย์ให้เรียบร้อย เพราะขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพียงเตรียมเอกสารให้พร้อม และดำเนินการให้ถูกต้องก็สามารถเป็นผู้ประกอบการอย่างถูกกฎหมายและมีความน่าเชื่อถือได้แล้ว และยังไม่ต้องเสี่ยงเสียค่าปรับหรือโดนบทลงโทษตามกฏหมายอีกด้วย