marketing-stategy-ideas

12 กลยุทธ์การตลาด ที่น่าสนใจ มีอะไรบ้าง พร้อมตัวอย่าง

กลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy) เปรียบเสมือนแผนที่สู่ความสำเร็จของธุรกิจที่มองข้ามไม่ได้ เพราะถึงแม้ว่าคุณจะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลแค่ไหน มันก็คงเป็นแผนที่ไร้ค่าถ้าไม่มีกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ทำได้จริง ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดหรือองค์กรแบบไหน การมีของกลยุทธ์จึงเป็นเรื่องที่ดี รวมถึงการเลือกใช้กลยุทธ์การตลาดให้ตอบโจทย์ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งด้วย

บทความนี้ The Wisdom Academy จึงอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับกลยุทธ์การตลาดใหม่ ๆ ซึ่งมีจุดแข็งแตกต่างกันไป โดยแต่ละกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจจะเป็นแบบไหน มาดูกัน

1. กลยุทธ์การตลาดแบบลองฟรีก่อนจ่ายทีหลัง

เชื่อว่าคุณน่าจะเคยเห็นบูธ (Booth) แจกของให้ชิมฟรีตามห้างฯ ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ขนม, เครื่องดื่ม ไปจนถึงอาหารราคาแพงต่างก็เลือกใช้กลยุทธ์การตลาดแบบนี้กันทั้งนั้น ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะตามจิตใต้สำนึกของมนุษย์แล้ว เมื่อได้รับบางอย่าง (Take) เรามักจะอยากตอบแทนกลับไปเสมอ (Give) หมายความได้ว่ายิ่งให้มากเท่าไรก็มีโอกาสจะยิ่งได้กลับมามากเท่านั้น

english-book-resting-table-working-space

ตัวอย่างที่เห็นชัด เช่น สถาบันสอนภาษาที่อัดคลิปสอนภาษาแบบฟรี ๆ บนออนไลน์ แต่ทำไมคนที่ได้ดูคอนเทนต์เหล่านั้นหลายคนก็ยังเลือกจะลงเรียนคอร์สออนไลน์แบบเสียเงินเพิ่มล่ะ? ก็เพราะ…มันเป็นการตลาดที่ทำให้คนรับรู้สึกอยากตอบแทน เมื่อได้รับความรู้ฟรี ๆ มามากมายแล้ว จนทำให้พวกเขาไม่อาจปฏิเสธที่จะเสียเงินเป็นการตอบแทนในครั้งต่อ ๆ ไปนั่นเอง หรือ แม้แต่ตอนที่คุณไปลองชิมขนมบางอย่างแล้วมันอร่อยมาก คุณก็มักจะเลือกซื้อกลับบ้านมาใช่ไหมล่ะ?

2. กลยุทธ์แบบขาดแคลน (Scarcity Strategy)

แนวคิดหลักของกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจนี้คือ “คนเรามักสนใจในสิ่งที่ขาดแคลน แต่มองข้ามสิ่งที่มีจำนวนมาก”

3d-rendering-singles-day-sales

อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกใจเต้นกับข้อความประมาณว่า “รุ่น Limited Edition” “Flash Sale หมดแล้วหมดเลย!” “11.11 โปรเด็ด ลดจัดเต็ม พลาดไม่ได้” นั่นแปลว่าคุณกำลังถูกกระตุ้นด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบขาดแคลนเข้าแล้วล่ะ! โดยกลยุทธ์นี้จะใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาร่วมด้วย จากแนวคิดที่ว่ามนุษย์มักให้คุณค่ากับสิ่งที่รู้สึกว่าได้มายากหรือมีเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นพิเศษ

ตัวอย่างแบรนด์ที่มักใช้กลยุทธ์การตลาดแบบนี้ เช่น Supreme แบรนด์แฟชั่นระดับโลกที่ใช้กลยุทธ์นี้จนทำให้ผู้คนรู้สึกท้าทายด้วยความที่ของแต่ละคอลเล็กชันถ้าหมดแล้วก็คือหมดเลยจริง ๆ ยิ่งหาซื้อยากก็ยิ่งทำให้หลายคนอยากจับจองเป็นเจ้าของมากเท่านั้น

3. กลยุทธ์การตลาดแบบกองโจร (Guerrilla Marketing)

เชื่อว่าหลายคนที่ได้ยินชื่อกลยุทธ์การตลาดนี้เป็นครั้งแรกอาจจะรู้สึกว่านี่มันการตลาดแบบโจมตีคู่แข่งในทางไม่ดี เหมือนกับกองโจรหรือเปล่า? แต่ไม่ใช่เลยเพราะนี่เป็นการตลาดแบบที่ต้องการสร้าง “ความประหลาดใจ” หรือ “เซอร์ไพรส์” ต่างหาก!

asian-colleague-male-female-friend-casual-dress-meeting-consult-work-together-with-fun-happiness-successful-brainstorm-workplace-business-partners-relation-ideas-concept

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ขอยกตัวอย่างแบรนด์ที่นำ Guerrilla Marketing มาใช้จนเกิดไวรัลขึ้นมาอย่าง “3M” แบรนด์ผู้นำด้านนวัตกรรมที่มั่นใจเรื่องความแข็งแกร่งของกระจกนิรภัย ที่ทำการใส่ธนบัตรจำนวน 3M (3 Million USD: 3 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ) ในตู้ที่ทำจากกระจกนิรภัยของแบรนด์ 3M โดยตั้งที่ป้ายรถเมล์ Vancouver Canada และท้าให้ผู้คนใช้เท้าของตัวเองกระโดดเตะเพื่อทำให้กระจกแตก ซึ่งถ้าทำได้สามารถนำเงินด้านในไปเลย นั่นทำให้ผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจจนเกิดเป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว

4. กลยุทธ์การตลาด Upsell

happy-women-from-ordering-products-from-customers-business-owners-who-work-home

เมื่อลูกค้าเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการของคุณ นั่นหมายถึงโอกาสทองที่คุณจะเพิ่มยอดขายได้ด้วยการ Upsell เช่น การนำเสนอสินค้าที่น่าสนใจเพิ่มเติมตัวอย่างที่ตัวผู้เขียนเคยเจอกับตัวเอง อย่างตอนไปกินไก่ทอดเจ้าดังในห้าง พอออเดอร์เสร็จพนักงานเขาก็มักจะถามเราว่า “เพิ่มขนาดของเฟรนช์ฟรายไหมคะ” หรือ “เพิ่มเป็นมันบดขนาดใหญ่หรือเปล่าคะ” นี่แหละที่เรียกว่าการ Upsell ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ได้ผลตอบรับที่ค่อนข้างดีเลยทีเดียว

5. กลยุทธ์การตลาด 8P Marketing

young-asian-woman-smiling-present-planing-project-board-meeting-room-copy-space

กลยุทธ์การตลาด 8P คือ กลยุทธ์การตลาดที่ต่อยอดมาจาก 4P Marketing เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีมากขึ้นในโลกปัจจุบัน ประกอบด้วย

  • Product (ผลิตภัณฑ์): การผลิตสินค้าที่ดีควรคำนึงถึง “Pain Point” ซึ่งเป็นปัญหาของลูกค้าอย่างตรงจุด อีกทั้งควรใส่ใจในคุณภาพของสินค้าและสำรวจแบรนด์คู่แข่งเพื่อพัฒนาสินค้าของคุณต่อไป

  • Price (ราคา): ราคาของสินค้าควรตั้งโดยพิจารณาจากองค์รวมทั้งหมด ทั้งนี้แนะนำว่าไม่ควรตั้งราคาที่ถูกหรือแพงจนเกินไป ที่สำคัญคือพยายามอย่าทำการตลาดแบบแข่งขันด้วยการ “กดราคา” กับแบรนด์อื่นในตลาดเดียวกันเพราะจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีในเวลาต่อมา

  • Place (สถานที่จำหน่าย): ต้องเข้าใจก่อนว่า “กลุ่มเป้าหมาย” เป็นใคร และพวกเขามักใช้เวลาอยู่กับที่ไหนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโลกออฟไลน์หรือออนไลน์ก็ตาม เพื่อให้สินค้าได้ไปสู่สายตาและความสนใจของลูกค้าได้มากขึ้น เช่น กลุ่มลูกค้าของคุณเป็นเด็กวัยรุ่น ก็อาจเลือกการขายผ่าน Tiktok, IG, Youtube เป็นต้น

  • Promotion (การส่งเสริมการขาย): ควรออกแบบโปรโมชั่นให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าโปรโมชั่นนั้นจะมีคุณภาพและได้ผลตอบรับที่ดี เช่น ถ้าคุณอยากจะระบายสต๊อกสินค้าไม่อยากแบกภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้าไว้ในโกดัง การออกโปรโมชั่น 1 แถม 1 ก็เป็นความคิดที่ดีมากกว่าการขายแบบลดราคา 50%

  • Public (การสื่อสารและให้ข้อมูล): การสื่อสารในปัจจุบันนิยมทำผ่านสื่อออนไลน์กันมากขึ้น เนื่องจากใช้งบประมาณที่น้อย รวดเร็ว และเข้าถึงลูกค้าได้ในวงกว้าง เช่น แบนเนอร์โฆษณา, คลิปวิดีโอ, โพสต์แคมเปญ และอื่น ๆ

  • Packaging (บรรจุภัณฑ์): ควรออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม โดดเด่น เพื่อเรียกความสนใจจากลูกค้าได้ ยิ่งไปกว่านั้นตอนนี้กระแสรักษ์โลกกำลังมาแรงมาก หากแบรนด์ของคุณสามารถทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จะได้คะแนนความพอใจจากลูกค้าที่ตระหนักถึงปัญหานี้ตามไปด้วย

  • People (บุคลากร): พนักงานในส่วนต่าง ๆ ก็เป็นเหมือนฟันเฟืองที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้มากขึ้น ดังนั้นแล้วเจ้าของธุรกิจก็ควรใส่ใจในการคัดเลือกพนักงาน และอบรมเกี่ยวกับข้อมูลการบริการต่าง ๆ อย่างดี เพราะสัมพันธ์ที่ดีของพนักงานกับลูกค้าสามารถทำให้ลูกค้าอยากกลับมาใช้บริการในครั้งต่อ ๆ ไปได้แน่นอน

(อยากพัฒนาด้านการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ต้องรู้จักการทำ CRM: Customer Relationship Management คืออะไร?)

  • Power (อำนาจต่อรอง): ความสามารถในการต่อรองกับธุรกิจอื่นในตลาดเดียวกัน หรืออำนาจในการออกสินค้าใหม่ที่สามารถขายได้ในราคาสูง

6. กลยุทธ์การตลาด Collaboration Marketing

multiracial-group-young-creative-people-smart-casual-wear-discussing-business-shaking-hands-together-smiling-while-standing-modern-office-partner-cooperation-coworker-teamwork-concept

กลยุทธ์การตลาดแบบร่วมกันนั้นเป็น การตลาดที่ 2 แบรนด์มา Collab (คอลแล็ป) ทำแคมเปญหรือกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกัน เพื่อผลประโยชน์ในการขยายฐานลูกค้า กระตุ้นยอดขาย รวมไปถึงดึงความสนใจจากลูกค้ากลุ่มเดิม

ตัวอย่างกลยุทธ์การตลาด เช่น การร่วมมือกันออกผลิตภัณฑ์ Apple Watch ที่สายรัดทำจากตัววัสดุ Sport Band จาก Nike เพื่อเอาใจสายสุขภาพที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย ซึ่งผลของแคมเปญนี้ก็ทำให้คนที่รักการออกกำลังกายที่ใช้ Nike อยู่แล้ว อยากที่จะซื้อ Apple Watch เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกายของตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันสาวก Apple Watch ก็อยากที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์จาก Nike มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

7. กลยุทธ์การตลาด Event Marketing

audience-applauding-speaker-after-conference-presentation

การทำการตลาดด้วยอีเวนต์หรือกิจกรรม เป็นการตลาดเชิงรุกที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักกับแบรนด์มากขึ้น รวมไปถึงได้ทดลองใช้สินค้าจริง ด้วย ซึ่งการทำการตลาดแบบนี้นอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีแล้ว มันยังเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์แบบมืออาชีพและการเป็น “ตัวจริง” ในตลาดที่คุณได้อย่างเหนือชั้น

8. ทำการตลาดด้วย Public Speaking

male-business-executive-giving-speech

Public Speaking หรือ การพูดต่อหน้าสาธารณชน เป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคุณก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ได้ผลลัพธ์แสนคุ้มค่า

ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้การ Public Speaking แล้วประสบความสำเร็จ เช่น คุณ CK CEO แห่ง Fastwork แพลตฟอร์มที่เป็นแหล่งรวมฟรีแลนซ์มากประสบการณ์ ซึ่งเขาก็มักจะตอบคำถามและพูดให้ความรู้เกี่ยวกับการมี Mindset ที่ดีในการทำงานอยู่เสมอผ่านแพลตฟอร์ม Tiktok และรายการ Talk ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมันก็เป็นการทำการตลาดรูปแบบหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากได้รู้จักกับผู้บริหารองค์กรมากขึ้น ซึ่งช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรได้เป็นอย่างดี

9. กลยุทธ์การตลาด Search Engine Marketing

seo-website-development-data-network-concept

“ไม่รู้ก็ถามอากู๋สิ” เชื่อว่าทุกวันนี้เวลามีคำถามที่ไม่รู้จะถามใครดี หลายคนก็มักจะเข้าไปที่ Google แล้วก็พิมพ์ในสิ่งที่อยากรู้กันใช่ไหม และจุดนั้นเองที่เป็นช่องทางการตลาดที่ยอดเยี่ยม เพราะหากคุณสามารถทำการตลาดให้ธุรกิจของคุณอยู่หน้าแรกบน Google ได้ หรืออันดับแรก ๆ ของการค้นหาได้ยิ่งดี นั่นหมายถึงโอกาสการเข้าถึงลูกค้าจำนวนมหาศาลผ่านทาง Search Engine นี้จะช่วยต่อยอดไปสู่ยอดขายได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องจ่ายเงินในการทำโฆษณาเลย

โดยการปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ให้ติดหน้าแรกของ Google ได้นั้นเรียกว่า “การทำ SEO” ซึ่งจะเป็นการปรับแต่งหน้าเว็บให้มี Keyword และโครงสร้างหน้าที่สอดคล้องกับนโยบาย YMYL และ E-E-A-T ของ Google เป็นหลัก

10. กลยุทธ์การตลาด Email Marketing

e-mail-global-communications-connection-social-networking-concept

กลยุทธ์การตลาดออนไลน์ผ่านอีเมลนั้นอาจจะไม่ได้รับความนิยมมากนักในประเทศไทย เพราะหลายคนมองว่าการใช้อีเมลเป็นเรื่องล้าสมัย เนื่องจากในคนไทยนิยมสื่อสารกันด้วยโซเชียลมีเดียเป็นหลัก แต่ความจริงแล้ว E-mail Marketing นี่แหละที่เป็นขุมทองแห่งการตลาด เพราะคุณสามารถเชื่อมโยงกับลูกค้าได้แบบตัวต่อตัว อีกทั้งยังสามารถส่งโปรโมชั่นดี ๆ ให้กับลูกค้าโดยตรงได้อีกด้วย

ซึ่งการจะได้ Email ของลูกค้ามา คุณอาจจะใช้วิธีแจก Resource ฟรีดี ๆ ไว้ในเว็บไซต์ โดยให้พวกเขาทำการพิมพ์ Email เพื่อจัดส่งไฟล์ Resource นั้นให้ก็ได้ ทำแบบนี้แล้วก็ถือว่าวินวินทั้งคู่ และเป็นจุดเริ่มต้นที่คุณจะได้ทำการตลาดผ่านอีเมลด้วยนะ

11. กลยุทธ์การตลาด Influencer Marketing

asian-blogger-woman-make-vlog-how-diet-lost-weight-young-female-using-camera-recording

Influencer หรือผู้มีอิทธิพล ถ้าพูดถึงในอดีตก็น่าจะเป็นเหล่าดารา-นักร้องชื่อดัง ซึ่งการจะจ้างถ่ายโฆษณาแต่ละตัวนั้นต้องใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ แต่ในทุกวันนี้ขอเพียงเป็นบุคคลที่มีผู้ติดตามเยอะอย่าง Influencer สายต่าง ๆ ก็สามารถช่วยคุณทำการตลาดได้แล้ว ที่สำคัญยังได้ผลลัพธ์ที่ดีอีกด้วย

เนื่องจากเหล่าผู้มีอิทธิพลนั้นจะมีฐานแฟนคลับที่เฉพาะตัวกว่าเหล่าดารา เช่น Influencer สายออกกำลังกาย ผู้ติดตามส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่รักสุขภาพ ชอบออกกำลังกาย ชอบการกินที่ดีต่อสุขภาพเหมือนกัน แบบนี้แล้วจึงทำให้การเลือก Influencer ที่ตรงกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็ยิ่งช่วยส่งเสริมให้สินค้าหรือโปรโมชั่นส่งไปยังกลุ่มผู้ติดตามซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเราได้ง่ายขึ้น

12. กลยุทธ์การตลาด Affiliate Marketing

businesswoman-is-using-laptop

ปัจจุบันมีผลสำรวจออกมาแล้วว่าชาว Gen Y (เกิด พ.ศ. 2523-2543) มักจะเลือกซื้อสินค้าตามคำบอกเล่าของเพื่อนหรือคนรู้จัก มากกว่าคำโฆษณาของแบรนด์ตามสื่อต่าง ๆ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการตลาดแบบพันธมิตร (Affiliate Marketing) ที่เปิดโอกาสให้พันธมิตรซึ่งเป็นเหมือนนายหน้าขายสินค้าสามารถแนะนำสินค้าให้กับคนอื่น ๆ และเมื่อเกิดการซื้อขาย เจ้าของธุรกิจก็จะแบ่งส่วนแบ่งเป็นค่าคอมมิชชันให้กับนายหน้าคนนั้น

ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ใช้การตลาดแบบ Affiliate ที่ชัดเจน คือ Tiktok Shop, Shopee, Lazada เป็นต้น แพลตฟอร์มเหล่านี้ได้เปิดให้เหล่าครีเอเตอร์สามารถทำคลิปแล้วติดตะกร้าสินค้า เมื่อมีคนสนใจเลือกซื้อตามรีวิวหรือคำแนะนำ ครีเอเตอร์ที่เป็นนายหน้าก็จะได้รับส่วนแบ่งเป็น % ที่ร้านค้าได้ตั้งเอาไว้

ที่มา:

Scroll to Top