กองทุนรวม ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการลงทุนที่ยอดฮิตมาก ๆ สำหรับทั้งนักลงทุนมือใหม่และนักลงทุนมือโปร ด้วยข้อดีที่ไม่ต้องมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการลงทุนแบบเจาะลึก รวมไปถึงคนที่ไม่มีเวลาติดตามกระแสของสินทรัพย์ หรือ เทรนด์เศรษฐกิจต่าง ๆ ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีประโยชน์ในแง่ของภาษีอีก
บทความนี้จึงอยากพาทุกคนมารู้จักกันอย่างลึกซึ้งว่ากองทุนรวมหมายถึงอะไรกันแน่ แล้วถ้าอยากเริ่มลงทุนต้องรู้อะไรบ้างถึงจะเลือกกองทุนได้ใช่ตามสไตล์ของตัวเอง ถ้าไม่อยากพลาดสาระดี ๆ ก็เลื่อนอ่านต่อกันเลย
เลือกอ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
กองทุนรวม คืออะไร
กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ การเอาทุนมากองรวมกัน จากสามคำง่าย ๆ ตรงตัวตามชื่อเลยว่า “กอง-ทุน-รวม” ซึ่งหมายถึง กลุ่มของเงินที่รวบรวมมาจากนักลงทุนหลายคนเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ เช่น หุ้น พันธบัตรหนี้ หรือตราสารอื่น ๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในการจัดการกองทุนรวมให้กับเรา เรียกว่า “ผู้จัดการกองทุน” (Fund Manager) ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารเงินกองทุนรวมให้มีผลตอบแทนที่ดีและให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่คอยตรวจสอบ โดยเงินกองทุนรวมก็จะถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์และวัตถุประสงค์ที่ได้แสดงไว้ใน “นโยบายการลงทุน” ที่ได้แจ้งไว้ หลังจากที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กองทุนรวมแล้ว ก็จะเฉลี่ยผลตอบแทนคืนให้นักลงทุนตามอัตราที่ลงทุนเอาไว้
เช่น นางสาว A มีเงิน 1,000 บาท นางสาว B มีเงิน 4,000 บาท และนางสาว C มีเงิน 10,000 บาท หลังจากนั้นนำเงินมารวมกันก็จะได้เป็น 1,000 + 4,000 + 10,000 = 15,000 บาท ซึ่งจะนำเงินในกองทุนรวมไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนและนำมาเฉลี่ยตามสัดส่วนเงินลงทุนของแต่ละคน
ข้อดีของ กองทุนรวม
1. มีผู้เชี่ยวชาญดูแลพอร์ตการลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ไม่สะดวกเฝ้าหน้าจอดูข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลต่อสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้ การลงทุนในกองทุนรวมก็เป็นการตัดสินใจที่ดี เพราะเราสามารถประหยัดเวลาในการศึกษาด้านการลงทุนอย่างเจาะลึกแล้วเอาเวลาไปทำในสิ่งที่ต้องการได้ เนื่องจากกองทุนรวมมี ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) คอยดูแลพอร์ตให้กับเราอยู่แล้ว
2. ทางเลือกลงทุนหลากหลาย
กองทุนรวม มีหลายประเภท และมีรูปแบบการลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกันไป เช่น ถ้าเราสนใจอยากลงทุนในหุ้น ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นได้ หรือ ถ้าอยากมีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลางก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่เลือกไปลงทุนในตราสารหนี้ก็ได้เช่นกัน
3. มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุน
ลักษณะการลงทุนของกองทุนรวมนั้นจะไม่ได้เลือกลงทุนในสินทรัพย์เพียงตัวเดียว แต่จะมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยการเลือกลงทุนในหลาย ๆ สินทรัพย์ กล่าวง่าย ๆ คือ ในหนึ่งกองทุนจะมีการกระจายการลงทุน เช่น ลงทุนในหุ้นหลายตัว เป็นต้น
4. ใช้เงินลงทุนที่น้อย
จุดเด่นที่ทำให้นักลงทุนมือใหม่หลายคนเลือกจะลงทุนกองทุนรวม ก็คืออยากเริ่มลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มาก เนื่องจากกองทุนรวมนั้นไม่จำเป็นต้องมีเงินหลักแสนหรือหลักล้าน แต่เริ่มต้นลงทุนได้ตั้งแต่หลักร้อย ถือว่าเหมาะมากสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นก้าวสู่การเป็นนักลงทุนหน้าใหม่เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ หรือ เป็นการทำ DCA ก็ได้เช่นกัน
5. ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
กองทุนรวมที่น่าสนใจ อย่างกองทุน SSF และ RMF เป็นกองทุนรวมที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลได้ด้วย ซึ่งทั้งสองกองทุนก็มีข้อกำหนดเรื่องของระยะเวลาการลงทุนแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งคู่ล้วนเป็นกองทุนที่ช่วยทำให้เราจ่ายภาษีน้อยลงและเก็บออมได้มากขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น
ข้อจำกัดของ กองทุนรวม
แน่นอนว่ารู้จักข้อดีของกองทุนรวมไปแล้ว แต่เพื่อความชัดเจนว่ากองทุนรวมเหมาะกับใคร เราก็ต้องมารู้จักข้อจำกัดของกองทุนรวมด้วยเช่นกัน
1. ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย
แน่นอนว่าเมื่อเราไม่ได้ตัดสินใจและดูแลการลงทุนด้วยตัวเอง ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการช่วยบริหารเงินในกองทุนรวมให้กับผู้จัดการกองทุน ดังนั้นแล้วก่อนเลือกลงทุนควรดูว่ากองทุนรวมนั้นมีค่าธรรมเนียมเท่าไร เพราะอย่าลืมว่าผลตอบแทนที่เราได้จะต้องถูกหักค่าธรรมเนียมเสมอ ซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่น้อยลงไปด้วย
2. การลงทุนไม่ยืดหยุ่น
แม้ว่าเราจะมีความคิดเห็นว่าช่วงเวลานี้ควรจะลงทุนในสินทรัพย์ไหน หรือไม่ควรลงทุนในหุ้นตัวใด แต่เราก็ไม่สามารถควบคุมหรือออกแบบให้ผู้จัดการกองทุนเลือกไปลงทุนตามใจของเราได้ นี่จึงเป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะกับคนที่อยากทำตามความต้องการของตัวเองแบบ 100% เป็นอย่างยิ่ง
3. ผลการดำเนินงานในอดีต ไม่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
การลงทุนในกองทุนรวมแม้ว่าเราจะเห็นผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุน แต่นั่นก็ไม่สามารถการันตีได้เลยว่าหลังจากนี้ผลการดำเนินงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร ดังนั้นถ้าจะเลือกลงทุนก็ไม่ควรดูผลการดำเนินงานในอดีตเพียงอย่างเดียวเพราะถือเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงเกินไป
4. ราคา NAV ไม่เรียลไทม์
ความแตกต่างที่ชัดเจนของการลงทุนในกองทุนรวมกับการลงทุนในหุ้นที่ชัดเจนมาก ๆ อีกอย่างคือ ราคาของหน่วยการลงทุน (NAV: Net Asset value) ที่จะไม่ได้เรียลไทม์ แต่เราจะได้ราคาเมื่อตลอดปิด ณ วันนั้น ๆ แทน ซึ่งถ้าใครจะนำแนวคิดที่ว่าจะปรับการลงทุนจากข่าวที่ได้รับมาก็อาจจะไม่ทันการณ์เสียเท่าไร ดังนั้นกองทุนรวมจึงเหมาะเป็นการลงทุนระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไรในระยะสั้น
5. มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุนอื่น
ถึงแม้ว่ากองทุนรวมจะมีผู้เชี่ยวชาญมาดูแลการลงทุนให้กับเรา แต่เขาก็ยังสามารถเลือกลงทุนผิดพลาดจากการตัดสินใจและวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อเราเลือกลงทุนในกองทุนไหนแล้ว อย่างน้อย ๆ เราก็ควรมีการ Recheck ด้วยว่าสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นเลือกลงทุนยังมีศักยภาพอยู่หรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่สมควรแก่การลงทุนอีกต่อไปแล้ว ก็ควรย้ายไปลงทุนในกองทุนรวมอื่นแทน
กองทุนรวมมีกี่ประเภท
คำถามยอดฮิตที่ว่า เลือกกองทุนรวมธนาคารไหนดี ด้วยเหตุที่ว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีกองทุนรวมให้เลือกกว่า 2,500 กองทุนซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักก่อนดีกว่าว่ากองทุนรวมมีแบบไหนบ้าง
กองทุนรวมในประเทศไทย แบ่งเป็น 9 ประเภทหลัก (ตามระดับความเสี่ยง)
ระดับ 1: กองทุนรวม ตลาดเงินเฉพาะในประเทศ
เป็นกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนใน เงินฝาก / ตั๋วเงิน / พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นการให้สถาบันทางเงินต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือสูงในการกู้เงินในระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ปี ทำให้มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ
ระดับ 2: กองทุนรวม ตลาดเงินต่างประเทศ
เน้นลงทุนใน เงินฝาก / ตั๋วเงิน / พันธบัตรรัฐบาล ในประเทศและต่างประเทศ เป็นลักษณะเดียวกับกองทุนระดับที่ 1 แต่เมื่อลงทุนในตลาดเงินต่างประเทศ ทำให้มีความเสี่ยงเรื่อง “อัตราการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ” เข้ามาร่วมด้วย
ระดับ 3 กองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล
เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก โดยเฉลี่ยในรอบปีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ส่วนใหญ่แล้วจะลงทุนมากกว่า 1 ปีขึ้นไปซึ่งทำให้มีความผันผวนและความเสี่ยงมากขึ้นกว่ากองทุนระดับที่ 2
ระดับ 4-6 กองทุนรวมตราสารหนี้
เน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้เอกชน โดยมีความเสี่ยงแตกต่างกันตามสัดส่วนของตราสาร Non-Investment Grade (ตราสารหรือหนี้สินที่ถูกจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงสูงมากในตลาดการเงิน มักมีการให้คะแนนเครดิตต่ำกว่า “BBB”)
ระดับ 5-6 กองทุนรวมผสม
เน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ทั้งเงินฝาก / ตราสารหนี้ / หุ้น / สินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งสัดส่วนในการผสมการลงทุนก็จะเป็นไปตามนโยบายการลงทุนของกองทุน
ระดับ 6: กองทุนรวมตราสารทุน
เน้นลงทุนในหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ ทั้งในและต่างประเทศ เป็นกองทุนรวมที่เราน่าจะได้ยินกันบ่อยที่สุด เพราะมันเป็นระดับความเสี่ยงของ SSF และ SSFX ในปัจจุบันนั่นเอง
ระดับ 7: กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม
กองทุนนี้จะเลือกลงทุนเฉพาะเจาะจงในหุ้นกลุ่มธุรกิจเดียวกัน เช่น หุ้นโรงพยาบาล, หุ้นพลังงาน, หุ้นเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งลักษณะการเลือกคุมธีมหุ้นแบบนี้ก็ต้องมีความเข้าใจแบบเจาะลึกเกี่ยวกับแต่ละอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี
ระดับ 8: กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก
เน้นลงทุนในสินทรัพย์เฉพาะกลุ่ม เช่น ทองคำ / น้ำมัน / อสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้นนอกตลาด (Private Equlity) ซึ่งเป็นการเลือกที่ใช้ความรู้แบบเฉพาะเจาะจงมาก ๆ ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ระดับ 8+: กองทุนที่มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ
เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งไม่เป็นไปตามระดับที่ 1-8
วิธีเลือกกองทุนรวม สำหรับมือใหม่
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งลงสนามอาจจะอยากรู้ว่ากองทุนรวม ธนาคารไหนดี 2566 ก่อนอื่นเราควรจะรู้เทคนิคการเลือกกองทุนรวมให้เหมาะกับตัวเราให้ตอบโจทย์สูงสุดกันก่อน ซึ่งมีเทคนิคดี ๆ ดังนี้เลย
1. ถามตัวเองว่า ลงทุนเพื่ออะไร
ก่อนอื่นเราต้องถามตัวเองก่อนว่าสนใจอยากจะลงทุนในสินทรัพย์อะไร เช่น หุ้น, อสังหาฯ, ทองคำ หรืออื่น ๆ แล้วอยากได้เงินปันผลจากการลงทุนหรือไม่ มีเป้าหมายอะไรในการลงทุน เช่น
- ลงทุนเพื่อสะสมเงินก้อน: แนะนำว่าถ้าอยากสะสมเงินก้อนในระยะสั้นควรเลือกเป็น Active Fund ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนควรช่วยจัดการและกระจายความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ถ้าอยากได้ผลตอบแทนมากควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น หุ้น แต่ถ้าคุณอยากสะสมเงินก้อนในระยะยาวการเลือกเป็น Passive Fund หรือ Index Fund ที่จะเลือกลงทุนล้อไปกับตลาดจะทำให้ได้ผลตอบแทนมากกว่า
- ลงทุนเพื่อการเกษียณและลดหย่อนภาษี: เมื่อเรามีเป้าหมายแล้วว่าจะเกษียณตอนไหน แล้วอยากได้รายได้หลังเกษียณเท่าไร แนะนำว่าควรเลือกลงทุนในกองทุน SSF (Super Saving Funds) สำหรับคนที่อยากลงทุนระยะยาวมากกว่า 10 ปี หรือ RMF (Retirement Mutual Fund) สำหรับคนที่อยากออมเงินเพื่อวัยเกษียณ (สามารถถอนออกมาได้ตอนอายุ 55 ปี) ซึ่งทั้งสองกองทุนสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
2. ระยะเวลาลงทุน
เราต้องการลงทุนในระยะยาวหรือระยะสั้น? เมื่อรู้แล้วจะช่วยให้เลือกประเภทกองทุนรวมได้ง่ายขึ้น ซึ่งระยะเวลาการลงทุนกองทุนตามเป้าหมายต่าง ๆ สามารถจัดพอร์ตได้ดังนี้
- ลงทุนระยะสั้น: สำหรับคนที่อยากพักเงิน แต่ไม่อยากออมเงินในธนาคารเพราะได้ดอกเบี้ยที่ไม่พึงใจ การเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะระยะเวลาการลงทุนมักไม่เกิน 1 ปีและมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารด้วย
- ลงทุนระยะปานกลาง: หากต้องการลงทุนที่ไม่ได้สั้นหรือยาวจนเกินไป แนะนำว่าอาจจะลองหาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการเลือกลงทุนในตั๋วเงินคลัง, พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก แต่ก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ
- ลงทุนระยะยาว: แนะนำว่าควรเลือกลงทุนในกองทุนแบบ Index Fund เช่น SET50 หรือ SET100 เนื่องจากมีงานวิจัยที่เก็บสถิติมาอย่างยาวนาน พบว่าการลงทุนในกองทุนแบบ Passive Fund มีโอกาสที่จะชนะตลาดได้ถ้าหากถือกองทุนไว้ได้นานพอ
3. รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
หากทำการสำรวจดูแล้วว่าตัวเองมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้สูง ก็อาจจะเลือกกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อมีโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่ถ้าประเมินแล้วพบว่ารับความเสี่ยงได้ต่ำ ซึ่งอาจจะมาจากการที่อายุมากแล้วหรือไม่มีเงินสำรองเยอะมากนัก ก็แนะนำให้ลงทุนกองทุนรวมความเสี่ยงต่ำจะดีกว่า
4. เลือกลงทุนตาม Megatrend
ถ้าเราก็ยังไม่รู้ว่าจะเลือกกองทุนรวมไหนดี การเลือกลงทุนตาม Megatrend หรือ เทรนด์แห่งอนาคต เช่น สังคมผู้สูงอายุ, Cyber Security, AI ก็เป็นไอเดียที่ดี เนื่องจากเป็นคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามอง
5. เลือกด้วยการเปรียบเทียบ
- ผลตอบแทน (Return): ให้เราดูผลตอบแทนกองทุนย้อนหลังประมาณ 3-5 ปี จะทำให้มองเห็นภาพรวมได้ดีขึ้น
- ความเสี่ยง (Risk): ควรดูว่ากองทุนที่เราเลือกไม่ได้มีความเสี่ยงที่ห่างจากกองทุนประเภทเดียวกันมากเกินไป
- กลยุทธ์ (Strategy): ดูว่ากองทุนนั้นบริหารในลักษณะ Active Fund หรือ Passive Fund
- การเลือกลงทุน (Selection): ดูว่ากองทุนรวมนั้นมีการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใด มีศักยภาพไหม
- ค่าธรรมเนียม (Fee): ควรเลือกกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในระดับที่เหมาะสม
- ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager): ควรเลือกกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ ประสบการณ์และไม่มีประวัติบริหารกองทุนผิดพลาด
6. ต้องดู Fund Fact Sheet ทุกครั้ง
Fund Fact Sheet จะบอกเราทุกอย่างเกี่ยวกับกองทุนรวมนั้น ไม่ว่าจะเป็น เงินลงทุนของกองทุนจะลงทุนในสินทรัพย์ไหนบ้าง มีจ่ายปันผลไหม มีค่าธรรมเนียมเท่าไร สภาพคล่องของกองทุน ซึ่งเราสามารถเข้าไปดูที่หน้า Website ของ บลจ. ผู้ดูแลกองทุนรวมนั้นได้เลย
สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่อยากได้เทคนิคออมเงินดี ๆ เพื่อนำมาต่อยอดในการลงทุนสามารถเข้าไปอ่านได้เลย: 12 วิธีเก็บเงิน สำหรับคนเก็บเงินไม่อยู่ ง่ายๆแต่ได้ผลจริง
ที่มา: